แม่พระธรณี หรือ องค์ตี่บ้อ เนี่ย เนี้ย มีชื่อ เรียกอีกหลายชื่อ เช่น พระศรีวสุนธรา พระปฤวิถี พระภูมิเทวี ฯลฯ
พระธรณีตามคติความเชื่อของชาวฮินดูให้ความเคารพ นับถือว่าแผ่นดินเป็นสิ่งค้ำจุนสรรพสิ่งทั้งปวงในโลก เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเทพจากธรรมชาติองค์หนึ่งเป็นเพศหญิง เรียกนามว่า ‘ธรณิธริตริ’ แปลว่าผู้ค้ำจุน พระธรณี แม้จะมิค่อยมีรูปเคารพอย่างแพร่หลายเช่นเทพองค์อื่น แต่ก็มีผู้ให้ ความเคารพ นับถือเป็นจำนวนมิใช่น้อย เพราะถือกันว่าพระธรณีสถิตอยู่ตามที่ต่างๆ ทุกหนทุกแห่ง จะทำการบูชาด้วย ข้าว ผลไม้ และนมด้วยการวางไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนพื้นดิน บางแห่งใช้เหล้าเป็นการสังเวยก็มี นอกจากนี้ ชาวฮินดูยังมี การขอขมาลาโทษเมื่อจะวางเท้าลงบนพื้นดินก่อนจะลุกขึ้นในตอนเช้า วัวหรือควายที่มีลูกก่อนที่จะให้ลูกกินนมครั้งแรก เจ้าของจะปล่อยน้ำนมของแม่วัวลง บนพื้นดินเสียก่อนทุกครั้งไป ถ้าเป็นพวกชาวนาก็จะขอให้ พระธรณีช่วยคุ้มครองผืนนา และวัวควาย แม้ใน พระเวทก็มีการขอร้องต่อพระธรณีให้ช่วยพิทักษ์คุ้มครอง วิญญาณของคน ตาย และต่อมาได้นับถือว่าเป็นเทพแห่งไร่ นาด้วย ในแคว้นปัญจาบเชื่อกันว่าพระธรณีจะ นอนหลับเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ของทุกๆเดือน ชาวไร่ชาวนาจะหยุดไม่ทำงานในระยะนี้
เทพแห่งแผ่นดินหรือพระธรณี ไม่ค่อยมีเรื่องราวประวัติความเป็นมาปรากฏมากมายดังเช่นเทพองค์อื่น หรือมีก็สับสน เช่น บางแห่งว่าพระธรณีมีโอรสกับพระนารายณ์ องค์หนึ่งคือพระอังคาร บางแห่งว่าพระอังคารเป็นโอรสของพระศิวะกับพระธรณีหรือในคติพราหมณ์ พบเพียงว่าเป็น ชายาของพระธุรวะหรือดาวเหนือ
พระธรณีเป็นเทวดาผู้หญิงที่มีสรีระรูปร่างใหญ่หากแต่ อ่อนช้อย งดงามพระฉวีสีดำพระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศายาวสลวยสีเขียวชอุ่ม เหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนดอกบัวสายคือสีน้ำเงิน พระชงฆ์เรียว พระพาหาดุจ งวงไอยรา นิ้วพระหัตถ์เรียวเหมือนลำเทียน มีพระทัยเยือก เย็นไม่หวั่นไหวพระพักตร์ยิ้มละไมอยู่เสมอ ภาพเขียนรูปนางพระธรณีที่ถือกันว่างดงาม เป็นพิเศษ คือภาพที่ฝาผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี ส่วนภาพปั้นหล่อนางพระธรณีในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่ จะทำเป็นรูปหญิงสาว มีรูปร่างอวบใหญ่ ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงาม ประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือมวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผมแสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผมนั้น ส่วนเครื่อง ทรงไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว ตามแต่จินตนาการของผู้สร้าง บางแห่งสวมพัสตราภรณ์เฉพาะช่วงล่าง แต่บางแห่งทั้งนุ่งผ้าจีบและห่มสไบอย่างสวยงาม ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์มีกรอบหน้าและจอนหู เป็นต้น
ในพุทธศาสนา พระธรณีปรากฎกายเพื่อบีบน้ำจาก มวยผมให้ท่วมพญามารที่รังควาญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวัน ตรัสรู้ ดั่งรายละเอียดตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมา นุชิตชิโนรสว่า
ข้าพระองค์จะบิดกระแสใสสินโธทกให้ตกไหลหลั่งลง จงเห็นประจักษ์แก่นัยนาในครานี้ แลนางพระธรณีก็บิดน้ำในโมลีแห่งตนอันว่ากระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศโมลีแห่งนางพสุนธรีเป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศที่ทั้งปวงประดุจห้องมหาสาครสมุทร พระผู้เป็นเจ้ารักขิตาจารย์จึงกล่าวสารพระคาถาอรรถาธิบายความก็เหมือน นัยกล่าวแล้วแต่หลัง ครั้งนั้น หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำปลาตนาการไปสิ้น